Back

“42 สถาบันการศึกษาร่วมกันเสวนาการให้บริการและระบบทะเบียนเพื่อส่งเสริมการสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคน ความท้าทายใหม่ที่ทำได้จริง”

มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดสัมมนาเครือข่ายการให้บริการการศึกษาและระบบทะเบียนการศึกษา 303 คน จาก 42 สถาบันการศึกษา ทั่วประเทศ เรื่อง “ความท้าทายใหม่: การให้บริการและระบบทะเบียนเพื่อส่งเสริมการสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคน” มุ่งนำ Generative AI มาประยุกต์การทำงานพร้อมต่อยอดความร่วมมือ การให้บริการการศึกษา และ ระบบทะเบียนระหว่างสถาบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือด้านการให้บริการการศึกษาและระบบทะเบียนระหว่างสถาบันและผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด

พิธีเปิดเริ่มขึ้น เวลา 09.15 น. กล่าวรายงานการจัดสัมมนา โดย ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ สายพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล กล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการ ตามด้วยการบรรยายพิเศษ เรื่อง กว่าจะเห็นและออกเป็นใบรับรองทักษะ (Skill Transcript) โดย รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากนั้น เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง Generative AI กับการให้บริการทางการศึกษาและระบบทะเบียน โดย ศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ และ การนำเสนอ เรื่อง “การเชื่อมโยงช่องว่างทางเทคโนโลยีสำนักทะเบียน : บริบทประเทศจีน (Bridging the Technology Gap in the Registrar’s Office: China Context.)” โดย ผศ.ดร.นพธนิษฐ์ โชติสาร รองผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและนวัตกรรมบริการสำนักงานทะเบียน นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปิดท้ายกิจกรรมในภาคเช้า พร้อมกันนี้สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำนวัตกรรม Mr.Smile ที่ได้รับการพัฒนาโดย รศ.วรารัตน์ สงฆ์แป้น รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ตรวจจับความรู้สึกของผู้ที่มาติดต่อขอรับบริการ ณ บริเวณเคาเตอร์ให้บริการ โดยหุ่นยนต์นี้จะคอยสังเกตว่าผู้มาติดต่อขอรับบริการรู้สึกอย่างไรสำหรับการติดต่อรับบริการในแต่ละครั้ง มาแสดงภายในงานด้วย

ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ สายพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักสำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้ทราบและตระหนักถึงทิศทางการพัฒนาการอุดมศึกษา และเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน ของประเทศตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Generative AI มาใช้ในการปฏิบัติงาน และการเปลี่ยนแปลงบริบทแวดล้อมที่พึงเรียนรู้ นอกจากนั้นการสัมมนาครั้งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือด้านการให้บริการการศึกษาและระบบทะเบียนระหว่างสถาบัน ละผู้ปฏิบัติงาน

ด้าน ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล กล่าวในพิธีเปิดสัมมนา ว่า งานด้านการให้บริการการศึกษาและระบบทะเบียนการศึกษาเป็นระบบสนับสนุนหลักที่สำคัญของทุกสถาบันการศึกษาที่ต้องใช้ข้อมูลในการบริหารและการตัดสินใจบนฐานข้อมูลจริง การสนับสนุนข้อมูลเพื่อรองรับแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างรู้เท่าทันและอย่างชาญฉลาด จากการจัดกระบวนการสัมมนาทั้ง 2 วันตามกำหนดการ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายฯ ตามกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างโอกาสที่ดีในการพัฒนากระบวนงาน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการผลักดันแนวปฏิบัติที่ดีร่วมกันต่อไปในอนาคต อันก่อเกิดประโยชน์ต่อนักศึกษา สถาบันการศึกษา และการพัฒนางานด้านการบริการการศึกษาและระบบทะเบียนการศึกษาร่วมกันต่อไป

การจัดสัมมนา ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 วันแรก นอกจากการบรรยายจากวิทยากร ทั้ง 3 ท่าน แล้ว ยังมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบัน 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ออกแบบและสร้างสารสนเทศอย่างไรให้ได้ผลเพื่อการบริการ การบริหารและการตัดสินใจ (ขอบเขตเนื้อหา เช่น วิเคราะห์และใช้ข้อมูลยุคปัจจุบันกันอย่างไร นำส่งข้อมูลทั้งภายในและไปภายนอกกันแบบไหนในยุคข้อมูลท่วมหัว ธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อการใช้งานและเพื่อความปลอดภัย Show & Share ร่วมกัน เป็นต้น) กลุ่มที่ 2 Lifelong Education และความท้าทายของระบบทะเบียนที่ตอบโจทย์กับผู้เรียนอนาคต (ขอบเขตเนื้อหา เช่น การย้ายโอนผลการศึกษาของการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ระดับปริญญาตรี/ ระดับบัณฑิตศึกษา การแสดงผลการศึกษา Transcript การสะสมหน่วยกิตและคลังหน่วยกิต Show & Share ร่วมกัน เป็นต้น) กลุ่มที่ 3 Future Admissions (ขอบเขตเนื้อหา เช่น เรียนรู้ร่วมกันในวันที่เด็กเกิดลดลง สารสนเทศสไตล์ไหนที่เด็กรุ่นใหม่อยากได้ การตรวจสอบคุณวุฒินักเรียนที่สำเร็จการศึกษาอย่างไรและในอนาคต Show & Share ร่วมกัน เป็นต้น) กลุ่มที่ 4 นวัตกรรมเพื่อการศึกษาและการบริการ (Academic and Service Innovations) (ขอบเขตเนื้อหา การพัฒนาระบบและการใช้นวัตกรรม เพื่อการศึกษาและการให้บริการ)

ส่วนวันที่สอง การบรรยายพิเศษ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง นโยบายการสร้าง และผลิตบัณฑิตกำลังคนของประเทศ กับความคาดหวังต่อการให้บริการการศึกษาและระบบทะเบียนของสถาบันอุดมศึกษา ต่อด้วยการนำเสนอบทสรุปที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบัน 4 กลุ่ม จากประธานกลุ่มย่อย และเวลา12.00 น. ผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวปิดการสัมมนาวิชาการ

ทั้งนี้ การจัดสัมมนาเครือข่ายการให้บริการการศึกษาและระบบทะเบียนการศึกษา มีผู้เข้าร่วม จาก 42 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นเจ้าภาพการจัดงาน จำนวน 350 คน ครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนแนวคิด นวัตกรรม และวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการและระบบทะเบียน ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในประเทศไทย ที่สำคัญ ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือด้านการให้บริการการศึกษาและระบบทะเบียนระหว่างสถาบัน และผู้ปฏิบัติงาน เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการผลักดันแนวปฏิบัติที่ดีร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาในอนาคต

ข่าว/ภาพ : กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น